โคเออร์แม่สอดจัดการอบรมเรื่องการวิเคราะห์ปัญหาของชุมชน

   โคเออร์แม่สอดจัดการอบรมเรื่องเรียนรู้และจัดการปัญหาของชุมชนให้กับผู้ลี้ภัยในพื้นที่พักพิงฯบ้านนุโพ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก โดยให้ผู้ลี้ภัยที่เข้าร่วมกิจกรรม ร่วมกัน ระดมสมองในการค้นหาสาเหตุและเรียนรู้แก่นแท้ของปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน และพิจารณาถึงผลกระทบของปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อเป็นแนวทางแก้ไขต่อไป กิจกรรมนี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2562 มีผู้เข้าร่วมจำนวน 43 คน เป็นหญิง 35 คน และชาย 8 คน

   กิจกรรมนี้ชื่อว่าชุมชนของฉัน เปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีปัญหา มีการระดมสมองว่าปัญหาของชุมชนมีอะไรบ้าง โดยให้ผู้เข้าร่วมการอบรมวาดภาพต้นไม้แล้วให้ชื่อว่า ชุมชนของฉัน มีลำต้นต้นชื่อว่าแก่นแท้ของปัญหา มีรากคือสาเหตุของปัญหา

   ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมแบ่งกลุ่มและวาดภาพต้นไม้พร้อมกับให้แต่ละคนในกลุ่มแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่พักพิง ฯ แล้วให้แต่ละกลุ่มส่งตัวแทนมารายงาน

   ต้นไม้แห่งปัญหา เป็นเครื่องมือสำหรับวิเคราะห์ที่เหมาะกับกลุ่มมากกว่าจะทำเป็นรายบุคคล เหมาะสำหรับผู้ทำงานภาคนามหรือกับชุมชน เช่นงานพัฒนา โดยเป็นเครื่องมือที่ช่วยค้นหาประเด็นความขัดแย้ง

กิจกรรมหน้าต่างหัวใจ

   หน้าต่างโจฮารี” ได้รับการขนานนามตามชื่อผู้คิดค้นทฤษฎี คือ โจเซฟ ลุฟท์ และ แฮรี่ อินแกม ทั้งสองได้จัดคุณลักษณะของแต่ละบุคคลออกเป็น 4 ส่วนหรือ หน้าต่าง 4 บาน ดังนี้: 1)บริเวณเปิดเผย คือ เรารู้ คนอื่นรู้ หมายถึง เรารู้ว่าตัวเองมีจุดบกพร่อง และเปิดเผยให้คนอื่นรับรู้ เป็นการเปิดเผยตนเองเพื่อให้คนอื่นแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับจุดบกพร่องของเราแล้วนำมาแก้ไข ปรับปรุง และพัฒนาบุคลิกภาพ 2)บริเวณจุดบอด คือ เราไม่รู้ คนอื่นรู้ หมายถึง เราไม่รู้จุดบกพร่องของตนเอง ซึ่งเราควรลดจุดบอด เนื่องจากไม่ช่วยให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนาบุคลิกภาพ 3.บริเวณจุดซ่อนเร้น คือ เรารู้ คนอื่นไม่รู้ หมายถึง เรารู้ว่าตัวเองมีจุดบกพร่อง ต่ปกปิดเป็นความลับไม่ให้คนอื่นรู้ เราควรลดความลับ เนื่องจากการปกปิดนี้ไม่ช่วยให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนาบุคลิกภาพ 4.บริเวณอวิชชา คือ เราไม่รู้ คนอื่นไม่รู้ หมายถึง เราไม่รู้จุดบกพร่องของตนเอง และผู้อื่นก็ไม่รู้ เราควรลดส่วนนี้เนื่องจากไม่ช่วยให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนาบุคลิกภาพ

   ดังนั้น เราสามารถปรับปรุงพฤติกรรมตนเองด้วยการเรียนรู้ ทำความเข้าใจตนเอง และเข้าใจผู้อื่น เรียนรู้และรับฟังความคิดเห็นจากผู้อื่นเพื่อนำมาปรับปรุงตัวเองและเพื่อสร้างสัมพันธภาพระหว่างกัน

   โดยสรุปแล้วหน้าต่างโจฮารี มีประโยชน์หลายอย่าง ประการหนึ่งในแง่ของการสร้างบรรยากาศที่อบอุ่นถ้าเราพร้อมที่จะเปิดตนเองต่อผู้อื่นมากเพียงใด คนอื่นก็พร้อมที่จะสนองตอบมากเพียงนั้น เป็นผลต่อการขจัดสิ่ง ขวางกั้นและการเป็นอยู่ทางสังคม ทำนองเดียวกันในขณะที่เปิดตนเอง เราอาจจะได้ผลสะท้อนกลับ อีกประการหนึ่งในแง่ของความสัมพันธ์ส่วนบุคคล เรารู้จักคนอื่นมากเท่าไรเราก็ยิ่งมีความเข้าใจและเรียนรู้ถึงจุดแข็งและจุดอ่อนมากขึ้นเท่านั้น

   นอกจากนั้นยังช่วยพัฒนาให้เป็นผู้ประกอบการที่มีอาชีพอิสระที่มีความสามารถมีความเชื่อมั่นในตัวเอง สามารถแก้ปัญหาด้านต่างๆ กับผู้ที่เกี่ยวข้องได้ เช่น ลูกค้า ผู้จัดจำหน่าย ข้าราชการ คู่แข่ง เป็นต้น สามารถใช้ความคิดรวบยอดของหน้าต่างโจฮารีเป็นแนวทางในการสร้างกลยุทธ์ ในการแก้ไขปัญหา เช่น ผู้ประกอบการอาจจะเปิดเผยความในใจเรื่องวิธีการจัดการและเรื่องเกี่ยวกับตนเอง ให้กับนายธนาคาร แต่กับคู่แข่งแล้วเขาจะเปิดเผยพื้นที่ให้น้อยที่สุด ในทำนองเดี่ยวกันนี้เราสามารถใช้หน้าต่างโจฮารีเป็นกลยุทธ์เพื่อการเจรจาต่อรอง ถ้าท่านรู้ข้อมูลของคู่แข่ง หรือรู้ความต้องการของคู่แข่งมากเท่าไร นั่นก็หมายความว่าท่านได้เปิดพื้นที่ซ่อนเร้นของคู่แข่งและอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบในการต่อรอง ซึ่งมีโอกาสที่จะชนะ

   ความรู้สึกและความประทับใจของผู้เข้าร่วมกิจกรรมคือ การทำกิจกรรมต้นไม้แห่งปัญหาทำให้ได้เรียนรู้วิธีในการค้นหาปัญหาและมองเห็นแก่นแท้ของปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน และเห็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น ได้เรียนรู้จุดแข็งของตนเองจากเพื่อนร่วมกิจกรรมและได้เล่าจุดเด่นของตนเองให้เพื่อนฟังด้วย นอกจากนี้ การได้เล่าความลับของตนเองให้คนอื่นฟังทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายจากเรื่องที่ปกปิดมานาน และ มีความพึงพอใจในกิจกรรมนี้ซึ่งเป็นการได้มาพบปะพูดคุยกันของผู้ที่อยู่ร่วมในสถานการณ์ปัญหาเดียวกัน